เรื่องที่ 2 หลักส่วนบุคคล
ปัจจุบันมีการนำระบบสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ประกอบการทำธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจต้องมีการรวบรวม จัดเก็บ ใช้หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ใช้บริการในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิ ขั้นพื้นฐานสำคัญในความเป็นส่วนตัว (Privacy Right) ของประชาชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองอันจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรอบในการคุ้มครองข้อมูลที่นิยมในระดับสากลและถูกนำมาอ้างอิงเป็นแนวทางในการดำเนินการใดๆ คือ กรอบในการคุ้มครองข้อมูลขององค์การร่วมมือ และพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD : The Organization for Economic Cooperation and Development) ในเรื่อง Guidelines Governing the Protection of Privacy and Transborder Data Flows of Personal Data ซึ่งมีหลักพื้นฐาน 8 ประการ คือ 1) หลักข้อจำกัดในการเก็บรวบรวมข้อมูล 2) หลักคุณภาพของข้อมูล 3) หลักการกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บ 4) หลักข้อจำกัดในการนำไปใช้ 5) หลักการรักษาความมั่นคงปลอดภัยข้อมูล 6) หลักการเปิดเผยข้อมูล 7) หลักการมีส่วนร่วมของบุคคล 8) หลักความรับผิดชอบ
สำหรับในประเทศไทยได้มีการกล่าวถึงข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อย่างกว้างขวาง เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เป็นต้น
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 นั้น คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีประกาศ เรื่อง แนวนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งรวบรวม จัดเก็บ ใช้ เผยแพร่ หรือดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับข้อมูล ของผู้ใช้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ซึ่งได้มีการประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น